ดิจิทัลโนแมด (digital nomad) คือบุคคลที่เดินทางทั่วโลกและพร้อมใช้เทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ เพื่อทำงานในรูปแบบดิจิทัลได้ “เชียงใหม่” เป็นเมืองที่ได้รับความนิยมจาก “ดิจิทัลโนแมด” ในทศวรรษที่ผ่านมา โดยที่พวกเขามีส่วนร่วมในการสร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่น
ปัจจุบันทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงศักยภาพของดิจิทัลโนแมดในแง่มุมการพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของดิจิทัลโนแมดต่อชุมชนท้องถิ่น วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ สร้างความท้าทายและต้องการความเข้าใจเพิ่มเติม
รศ.ปีเตอร์ รักธรรม คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ รศ.Daniel Schlagwein จาก University of Sydney Business School และคณะ ภายใต้ทุน Bualuang ASEAN Fellowship ศึกษามุมมองของคนท้องถิ่นต่อดิจิทัลโนแมด โดยใช้กรณีที่เมืองเชียงใหม่ โดยศึกษาผลกระทบทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยีที่หลากหลาย
เชียงใหม่ เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดสำหรับ “นักเดินทางแบ็กแพ็กเกอร์” (backpackers) ที่มีงบประมาณต่ำ และมีระยะเวลาการเดินทางที่ยาวนาน ส่วนใหญ่มาจากประเทศตะวันตก เริ่มเดินทางมาที่เชียงใหม่ตั้งแต่ปี 2513 ได้รับแรงบันดาลใจจากวงดนตรีบีทเทิล ตำราท่องเที่ยว Lonely Planet และ “Banana Pancake Trail” พร้อมกับการเพิ่มมากขึ้นในยุคของสายการบินราคาถูกในปี 2533
แบ็กแพ็กเกอร์ในเชียงใหม่มักจะมองหาโฮสเทล โฮมสเตย์และหอพักสำหรับการเดินทางในราคาประหยัดแต่ใช้เวลานาน โดยทั่วไปแล้วคนในท้องถิ่นมองว่าแบ็กแพ็กเกอร์มีผลประโยชน์ต่ำ และผลกระทบต่ำต่อชุมชนท้องถิ่น ซึ่งต่างจากดิจิทัลโนแมด
เชียงใหม่ ถือเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมและได้รับการขนานนามว่า “เมืองหลวง” ของดิจิทัลโนแมด ซึ่งเริ่มเข้ามาในช่วงกลางปี 2553 โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ปี 2558 สิ่งอำนวยความสะดวกใหม่ๆ
เช่น พื้นที่ทำงานร่วมและพื้นที่อาศัยร่วม ได้เกิดขึ้นเพื่อรองรับประชากรที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก พื้นที่เหล่านี้ทำหน้าที่เป็นสภาพแวดล้อมในการทำงานและทางสังคม เป็นเว็บไซต์เครือข่ายระดับมืออาชีพและมีความเป็นส่วนตัว